จีพีเอส

วันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ความู้เรื่องเครื่องเสียง

ฟังในห้องลองเสียง (ร้าน) ได้เรื่องแค่ไหน

ร้านติดตั้งที่มีมาตรฐานหรือร้านใหญ่หน่อย มักทำห้องลองเสียงไว้ให้ลูกค้าเลือกฟังเปรียบเทียบแต่ละยี่ห้อก่อนตัดสินใจซื้อ ห้องมักมีขนาดใหญ่กว่าในห้องโดยสารของรถจริงๆ ตั้งแต่ 2-3 เท่า บางร้าน ห้องลองเสียงก้องพอสมควรจนฟังจับประเด็นอะไรแทบไม่ได้ ปัญหาที่ห้องลองจะพาหลงทางได้ คือ

            1. ตำแหน่งการติดตั้งลำโพงแต่ละคู่ในห้องลอง คู่ที่เสียงแหลมจัด ถ้าวางสูงเลยหูไปมากๆ จะเหมือนไม่จัดมาก ทุ้มอาจดีขึ้นด้วยการสะท้อนจากเพดานและมุมระหว่างเพดานกับผนังตู้ลอง

            ขณะที่ลำโพงที่เสียงไม่จัด ถ้าอยู่ในตำแหน่งเดียวกันนั้น เสียงจะทึบไปเลย เบสจะอื้ออึง ลำโพงที่ซ้าย, ขวา วางห่างกันเกินไป ตรงกลางโบ๋กลวง เสียงจะบาง ขาดน้ำหนัก ไม่เป็นตัวตน

            ลำโพงที่อยู่ด้านหน้า ไม่ห่างกันมาก (ซ้ายกับขวา) อยู่พอๆ กับระดับหู เสียงจะเป็นจริงมากที่สุด ดีก็ออกมาดี เลวก็ออกมาเลวเลย

            สิ่งที่น่าคิด ถ้ากำลังเลือกวิทยุ-CD ไฮเพาเวอร์อยู่ ตำแหน่งของลำโพงที่เปิดลองกับวิทยุนั้น ก็ทำให้หลงทางได้ เกิดวิทยุเสียงจัดจ้าน เบสน้อย ถ้าลองกับลำโพงคู่ที่อยู่สูงสุด ใกล้เพดาน ความจัดจ้านก็ลดลงมาก เบสจะดีขึ้น ก็หลงคิดว่า วิทยุดี ดังนั้น การลองฟังวิทยุ, แอมป์, ฟรอนท์ ควรลองกับลำโพงคู่ที่อยู่ในตำแหน่งที่ เสียงเป็นจริงมากที่สุดดังกล่าวแล้ว (อย่าลืมว่า ยังไงๆ ต้องนั่งฟังตรงกลางให้ได้ ไม่เช่นนั้นหลงทางแน่)
2. ห้องลองที่ใช้ระบบกดสวิตซ์ตัดต่อ, สลับ, เลือกฟังผลิตภัณฑ์แต่ละตัวได้ (บางทีใช้คอมพิวเตอร์เป็นตัวตัดต่อ) แน่นอนว่าจะมีสายไฟ, สายลำโพง, สายสัญญาณ (ภาพและเสียง) นับร้อยเส้น มัดเป็นกระจุกอยู่รวมๆ กันภายในตู้คอนโซลเลือกอุปกรณ์ รวมทั้งสายลำโพงนับร้อยๆ สายที่มัดรวมกัน ลากไปยังตู้ลองท่ีติดตั้งลำโพงเป็นสิบๆ คู่

            สายเหล่านี้ ไม่มีร้านไหนสนใจฟัง (ฟังอย่างเดียว) ตรวจสอบทิศทางการเดินสาย ว่าสายไฟ, สายลำโพง, สายสัญญาณ, สายภาพ ควรจะต้องเดินสวนทิศหรือย้อนทิศจึงจะได้มิติเสียงเป็นตัวตน (3 มิติ, มีทรวดทรง) เวทีเสียงกว้างหลุดลอยเป็นลำดับชั้น หรือไม่ระมัดระวังว่าสายต่างๆจะแตะต้องกัน สายลำโพงถ้าแตะสายไฟ มันก็จบ เสียงจะกร้าว, แข้ง, กระด้าง, แบน มิติฟุ้งแบนถ้าด้านซ้ายไม่แตะ, ด้านขวาแตะ มิติเสียงก็ไม่โฟกัส เสียงซ้าย-ขวาจะเหลื่อมๆ กัน หลอกหู ฟังทะแม่งๆ (อย่างที่กล่าง ต้องนั่งฟังตรงกลางเสมอ) สายสัญญาณซ้าย, ขวา ถ้าแตะกันและกัน เสียงก็ขุ่นขึ้น, กอดกันเวลาช่วงโหม ไม่โปร่งโล่ง, พริ้ว ต้องฉีกแยกจากกัน เกิดเพาเวอร์แอมป์ A สายสัญญาณเสียงซ้าย-ขวาฉีกแยก เพาเวอร์แอมป์ B ไม่ฉีก แบบนี้ A ก็ออกมาดีกว่าแน่ (ถ้าลองกับลำโพงที่โฟกัสดีๆ อยู่แล้ว)

            ตัวสายแต่ละเส้น (ไม่ว่าสายอะไร) ก็ห้ามม้วนทับพันตัวเอง เสียงจะจม, กระด้าง, ทื่อ, ตื้อๆ ต้องคลี่ออก

            ตัวสะพานเชื่อมสัญญาณ (RELAY) ภายในตู้ลอง เพื่อใช้ตัดต่อสัญญาณต่างๆ แต่ละตัว เสียงก็อาจต่างกันได้

            การบัดกรีแต่ละจุด ก็ให้เสียงต่างกัน ถ้าบัดกรีไม่สนิทและใช้ตะกั่วมากไป เสียงก็จะทึบขุ่น ไม่โปร่งใสเท่าจุดที่บัดกรีดีๆ แค่ฉาบเคลือบ (ไม่โปะลูกเดียว) ถ้าใช้หัวเสียบตัวผู้ตัวเมีย เสียงก็มาตกหล่นที่จุดเสียบนี้พอสมควร

            ฟิวส์ใหญ่ที่ใส่ป้องกันไม่ว่าตัวฟรอนท์ หรือตัวเพาเวอร์แอมป์ เส้นฟิวส์ก็มีผลต่อเสียงและมิติสเตอริโอ ถ้าใส่โดยไม่ฟังทดสอบเสียงก่อน ของดีจริงจะฟ้องการผิดทิศของฟิวส์อย่างชัดเจนจนทำให้เราหลงว่า ของนั้นไม่ดี ขณะที่ของไม่ดี พิกลพิการอยู่จะไม่ขี้ฟ้องมาก ทำให้เราหลงเข้าใจว่า เป็นของดีกว่าตัวแรก บางครั้งอาจมีการแบ่งกลุ่มฟรอนท์ หรือกลุ่มเพาเวอร์แอมป์ เป็นมากกว่า 1 กลุ่ม เช่นฟรอนท์มี 2 กลุ่มเพื่อแยกป้องกันด้วยฟิวส์ใหญ่กลุ่มละ 1 ตัว กลุ่มไหนเจอเส้นฟิวส์ผิดทิศก็ตกนรกไป กลุ่มไหนโชคดี เส้นฟิวส์เขาใส่มาถูกทิศก้ได้ดีไป

            3. การที่แต่ละอุปกรณ์ต่อพ่วงใช้ไฟร่วมกัน ไม่ว่าจะเปิดหรือปิดอยู่ แต่ละอุปกรณ์จะมีผลรบกวนกันเองไปมา ยิ่งถ้าเปิดเครื่องด้วย การรบกวนป่วนกันเองจะยิ่งมีมาก (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของแอมป์, ลำโพง ที่ฟังทดสอบด้วย การป่วนอาจฟังยากขึ้น ถ้าสายต่างๆ มั่วกันไปหมด ดังกล่าวไว้ในข้อ 2 แต่มีผลแน่นอน อย่างน่าตกใจด้วย)

            4. การติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการเปรียบเทียบ การติดตั้งตัววิทยุ-CD เอียงหน้าเชิด มิติเสียงจะแย่ลงมาก เสียงจะกลวง, บางขึ้น, ฟุ้งขึ้น, ความเป็นตัวตน (ทรวดทรง) ลดลง เวทีเสียงถอยจมแบน เครื่องที่ดีจริงจะแสดงอาการเหล่านี้เพื่อฟ้องว่า การติดตั้งไม่ถูกต้อง (ที่ถูกต้องอยู่ในแนวราบที่สุด) ขณะที่เครื่องที่จงใจยกเสียงกลางต่ำมากๆ เบสเว่อๆ จะยังคงเหลือ เนื้อเสียงอยู่แม้ติดหน้าเชิด ฟังแล้ว จะเหมือนมีสาระ ตัวตน ดีกว่า เครื่องแรก (แต่ถ้าฟังไปนานๆ จะรู้ว่า ของปลอม และขุ่น, หนาทึบกว่า)

            อีกทั้ง เครื่องไหนโชคดี อยู่ในตำแหน่งที่ถูกสั่นสะเทือนน้อยกว่า (ไม่ว่าฟรอนท์ หรือ เพาเวอร์แอมป์) เสียงก็จะชัดถ้อยชัดคำ รายละเอียดดีกว่า การสวิงเสียงดัง-ค่อย ถึงใจกว่า สดกว่า

            5. สายรีโมทจากฟรอนท์ไปปิด-เปิดปรี หรือเพาเวอร์แอมป์ ก็มีผลมหาศาลต่อเสียง และมิติของเพาเวอร์แอมป์นั้นๆ ทั้งในแง่คุณภาพของสายที่เอามาทำเป็นสายรีโมท และทิศทางการเดินสายรีโมทไปยังแต่ละเครื่อง ไม่มีร้านไหนสนใจที่จะฟังทดสอบทิศทาง และคุณภาพสายรีโมทใดๆ ความแตกต่างนั้นมหาศาล เช่น ถ้าเดินถูก เสียงนุ่ม, หวาน, มีวิญญาณ เป็นดนตรี พอเดินย้อนทิศ เสียงกลับ หยาบคาย เจี๊ยวจ๊าว จัดจ้าน สดเข้มจนเกินงามไปหมด

            สายรีโมทปรับดัง-ค่อย ที่มีมาให้ต่อเพิ่มได้กับเพาเวอร์แอมป์บางรุ่น (ส่วนใหญ่ขับซับ) มีผลทำให้เสียงและมิติที่ควรจะดี กลับแย่ลง ถ้าร้านต่อไว้เพื่อโชว์ว่าปรับรีโมทได้ ก็จะพลาดฟังของดี กลายเป็นของไม่ดี (จริงๆ สายรีโมทที่มากับแอมป์ไม่ควรใช้เลย ถ้าจะปรับจริงๆ ไปปรับที่ฟรอนท์ก็พอได้ ถ้าเราตั้งเสียงทั้งชุดลงตัวดีแล้ว ไม่ควรไปปรับอีก จะต้องมาหาจุดลงตัวใหม่)

            6. การปรับระดับสัญญาณขาเข้าของทั้งปรี (รวมทั้งขาออกของปรี) ของเพาเวอร์แอมป์ก็มีผลต่อ กำลังขับ, สุ้มเสียง, รายละเอียด, การสวิงเสียง, ความเป็นดนตรีอย่างที่เรียกว่า หน้ามือกับหลังมือเลย ปรับไม่ดี ของดีกลายเป็นของเลวได้อย่างหน้าตาเฉย ผมไม่เชื่อว่าจะมีร้านไหนขยันนั่งปรับขาเข้าของแอมป์แต่ละตัวในห้องลองเสียง (เรียกการทำ Level Matching) นี่ยังไม่นับการเดินสายไฟเข้าเพาเวอร์แอมป์ที่ดี-เลวต่างกัน
7. กรณีเปรียบเทียบลำโพงโดยใช้ขับด้วยกำลังขับในตัววิทยุ-CD เอง โดยภาคขยายในตัวเป็น 4CH มีเหมือนกันที่พบว่า สายลำโพงคู่หน้าของวิทยุอาจเดินมาถูกทิศ แต่สายคู่หลังเดินมาย้อนทิศ (จากโรงงาน) หรืออาจกลับกัน หน้าย้อน, หลังถูก ถ้าลำโพง 2 คู่ที่เปรียบเทียบกัน โดยคู่หนึ่งพ่วงจากสายลำโพงคู่หน้า อีกคู่พ่วงจากสายลำโพงคู่หลัง อย่างนี้คู่หลังก็เสร็จ ทั้งๆ ที่อาจดีกว่าคู่หน้า

            8. มีเหมือนกันที่แสบที่สุด คือ ผู้นำเข้าบางรายที่ชอบแวะเวียนไปตามร้านติดตั้งที่เป็นลูกค้า แล้วก็จ้างช่างในร้าน “เผา” สินค้าคู่แข่ง โดยทำอย่างไรก็ได้ ไม่ว่าการแกล้งกลับขั้วบวก, ลบสายลำโพงให้ผิดๆ ถูกๆ การปรับขาเข้าเพาเวอร์แอมป์ให้ไม่เหมาะสม การลดจำนวนเส้นลวดทองแดงของสายไฟให้น้อยเส้นลงเวลาต่อเข้าเครื่องคู่แข่ง และอีกสารพัด ซึ่งถ้าเถ้าแก่ร้านไม่เป็นงาน ไม่คุมเอง ไม่หมั่นตรวจตราห้องลอง ปล่อยให้แต่เป็นหน้าที่ช่าง มันก็เสร็จ เสียชื่อ ถ้าลูกค้ารู้ว่าถูกหลอก เสียชื่อแทนที่จะขายของดีจริงให้ลูกค้า ฯลฯ

            9. ห้องลองเสียงก้อง ทำให้ฟังแล้วเป็นการยากมากที่จะแยกแยะความแตกต่างระหว่าผลิตภัณฑ์ได้ หรืออาจหลงทางได้ การบุซับเสียงด้วยผ้าม่าน แก้เสียงก้องกลางลงต่ำไม่ได้ ทั้งลดรายละเอียดลง เสียงทึบ ใยแก้วก็เช่นกันและจะหนักกว่าด้วย แผ่นชานอ้อยเจาะรูหรือตัวหนอน เก็บกลางลงต่ำไม่ได้ เก็บได้ในช่วงกลางจริงๆ เท่านั้น ฟองน้ำเช็ดเท้า ลดความก้องแบบคม, สว่าง เป็นก้องแบบทื่อๆ เท่านั้น ฟองน้ำเก็บเสียงที่ทำในนี้ เก็บได้ดีเฉพาะช่วงความถี่แคบๆ บางช่วงเก็บมากจนโบ๋ ทำให้ความถี่เสียงถูกเก็บแบบไม่เสมอพอๆ กัน (เมื่อฟังด้วยหู) ไล่จากความถี่สูงมาต่ำ เสียงจะออกมาทึบแบบอึดอัด เหมือนขาดอากาศในห้อง และถึงขนาดสเตอริโอกลายเป็นโมโนไปเลย! ดีที่สุดคือ ฟองน้ำเก็บเสียง SONEX จากเยอรมัน (โทร. 02-2667200-5 คุณเหมือนแข บริษัท ADR)

            10. ถ้าเกิดระบบลองเสียงทำให้ไฟ DC ที่จะไปเลี้ยงเครื่องเสียงไม่ได้ 14 V. และเหลือแค่ 11 V. DC (เคยพบมาแล้ว) ก็จะทำให้การฟังทดสอบและการเปรียบเทียบ ผิดเพี้ยนไปอย่างเหลือเชื่อ ของยิ่งดีแค่ไหน จะยิ่งออกมาเลวแค่นั้น!

            เป็นอันว่า ครบ 10 ข้อพอดี เท่าที่นึกได้ เป็น 10 ข้อที่หาอ่านที่ไหนไม่ได้ เป็น 10 ข้ออันตราย ถ้าอยู่ในมือพ่อค้าโจร ที่อาจนำไปเป็นเครื่องมือ “เผา” สินค้าคู่แข่ง หรือสินค้าที่ตัวเองไม่ได้รับเป้ามา (ที่รับเป้ามาก็ทำทุกอย่างให้ได้เปรียบมากที่สุด) เป็นดาบ 2 คม จึงควรพิจารณาเลือกร้านติดตั้งให้ดีก่อนตัดสินใจใช้บริการของเขา

            หมายเหตุ

            ลำโพงที่เหลืออยู่ในห้องลอง (ไม่ได้ฟัง) ก็มีผลต่อเสียงมหาศาล ทุกคู่จะทำตัวเป็นแหล่งกำเนิดเสียง ส่งเสียงซ้ำกับลำโพงคู่หลักที่กำลังเปิดฟังอยู่ ทำให้เสียงคลุมเครือขึ้น มั่วขึ้น ถ้ากำลังฟังลำโพงที่เสียงนุ่มกลมกล่อม จะเสียเปรียบลำโพงที่จัดจ้านกว่า กรณีนี้จะทำให้ตำแหน่งการติดตั้ง ลำโพงที่เปิดฟัง มีผลมากกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ



เสียงเบสที่ถูกต้อง เป็นอย่างไร


เสียงทุ้มหรือเสียงเบสมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟังเพลงหรือดูหนัง เสียงเพลงหรือเสียงหนังที่ปราศจากหรืออ่อนเบส (ทุ้ม) จะฟังแล้วผอมบาง ขาดมวลและน้ำหนัก ชิ้นดนตรีจะขาดตัวตน มีขนาดผอมลง เสียงดีดดับเบิ้ลเบสจะเหมือนดีเซลโล่ เสียงแกรนด์เปียโนจะกลายเป็นอัพไรท์เปียโน เสียงเป่าแซ็กโซโฟนจะเหมือนเป่าฟลุ๊ต เสียงกลองใหญ่ทิมปานีจะเหมือนกลองทอมทอม เสียงนักร้องจะผอมและหนุ่มสาวขึ้นขาดเสียงลงท้อง เสียงเครื่องดนตรีไม้จะเหมือนเครื่องพลาสติก พูดง่ายๆว่าผิดเพี้ยนไปหมด ด้านโทนเสียง ความหวานโรแมนติกหรืออบอุ่น (WARMTH) จะหายไปบรรยากาศที่แผ่โอบตัวเราจะไม่มี ไม่รู้สึกเหมือนอยู่ในคอนเสิร์ตฮอลล์ การทิ้งตัวลงพื้นของเสียงต่ำลึกไม่มี ชิ้นดนตรีเหมือนลอยไม่ติดดิน ช่วงดนตรีขึ้นพร้อมกันหลายชิ้นจะสับสนปนเปกลืนกันไปหมดแยกแยะไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร ถ้าฮาร์โมนิกหรือความถี่คู่ควบหรือส่วนผสมของความถี่คู่ควบที่ต่างกันนี่เอง บอกให้รู้ว่านักร้องคนนี้อ้วนหรือผอม นี่เปียโนสไตน์เวย์ นี่ยามาฮ่า นี่พีทรอฟ ฯลฯ

นอกจากคุณภาพเสียงแล้ว ความถี่ต่ำช่วยให้เสียงฟังอิ่ม หนักแน่น มีพลัง มีความสะท้าน (เป็นการสัมผัสไม่ใช่ได้ยินอย่างเดียว) ช่วยให้เกิดความมันส์ เร้าใจ ฮึกเหิม สมจริง สำคัญมากต่อการดูหนังหรือฟังเพลงให้ได้อารมณ์

จะเห็นว่า ความถี่ต่ำ เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ถ้าหดหายไป อารมณ์,ความน่าฟังจะสูญสิ้นไปแทบหมด และแน่นอนความถี่ต่ำมิใช่แต่ให้อะไรที่แค่ตูมตาม โครมครามแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนที่เข้าใจกัน

ความถี่ต่ำ (เบส,ทุ้ม) ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร

1.ต้องราบรื่น ไม่โด่งหรือวูบตกไม่อู้ก้อง ต้องมีระดับเสมอกันตลอด ต้องครบ เรียกว่า ต้อง FLAT
2.ต้องลงได้ความถี่ต่ำลึก ลึกเท่าไรจึงจะพอ ปกติทั่วไปลึกระดับ 60 Hz ก็ถือว่าสอบผ่าน ครบพอเพียง แต่ถ้าลงได้ลึก กว่านั้นสิ่งที่ได้คือเสียงทุ้มที่มี “ฐาน” ไม่ห้วน คือมันจะมีลูกตาม แต่ไม่ใช่สั่นคราง นั่นเป็นทุ้มที่สั่นค้างไม่กระชับถ้าทุ้มลงได้ลึกถึง 30 Hz เราจะรู้สึกถึงอณูอากาศมวลอากาศที่โอบตัวเรา ขากางเกงจะสั่นไหวเพิ่มความเร้าใจ ชวนติดตาม ถ้าดังๆจะเป็นความสะท้าน (Feeling)
ถ้าลงต่ำกว่า 20 Hz จะเริ่มรู้สึกว่าฝาห้องรอบตัวเรามีการยืดหดหรือขยับเข้า-ออก สนามเสียงโอบห่อหุ้มรอบตัวเรา ช่วยเพิ่มความตื่นเต้น ช่วยให้หัวใจสั่นสะท้าน เริ่มเขย่าทุกสิ่งรอบตัวเราให้สั่นไหว เสียงร้องหวาน โรแมนติกขึ้น อบอุ่นขึ้น ระวังทุ้มที่ยานคราง หรือสั่นครางค้างไม่จบเร็วไม่กระชับจะหลอกหูเหมือนทุ้มลงได้ลึกดี ซึ่งจริงๆไม่ใช่

1.บางคนเข้าใจผิดคิดว่าถ้าจะให้เบสมันส์ต้องจูนให้มันโด่ง เช่นแถวๆ 60Hz หรือ 120 Hz มันจะ “กระทุ้ง” ดีเหมือนเบสชัดเป็นลูกๆ จริงๆแล้วผิดเพราะจะเข้าข่าย ONE NOTE BASS คือเหมือนการเดินเบสวิ่งอยู่แถวๆความถี่หลัก เดียว  โน้ตตัวเดียว ไม่ได้เปลี่ยนสาย,คีย์ ฟังนานๆน่าเบื่อ ความจริงแล้วอยากได้เบสมันส์ๆต้องทำให้มันมีน้ำหนักทิ้งตัวลงพื้น,ทำให้หัวโน้ตคมชัดและชัน,หางโน้ตที่กระชับไม่ยานครางค้าง เสียงกระเด็นหลุดลอยออกมา เสียงมีตัวตนมีทรวดทรงบอกความอ่อนแก่,ดัง-ค่อยได้กว้าง ไม่ป้อแป้ ไม่อั้นหรือตื้อ
ถ้าทำได้เหล่านี้ จะฟังทุ้มได้มันส์ โดยไม่ต้องทำเสียงโด่งหลอกหูให้น่าเบื่อ
2.ทุ้มที่ดีต้องล่องหน ต้องทำได้เหมือนเสียงทุ้มไม่ได้มาจากดอกทุ้ม (ตู้ซับ) แต่มาจากดอกกลางแหลมที่อยู่ด้วยกันต้องวิ่งไปมาในเวทีเสียงได้ตามที่ควรจะเป็น ไม่ใช่เสียงแช่อยู่ตรงดอกวับทั้งปีทั้งชาติ พูดง่ายๆว่าทุ้มต้อง INVICIBLE (ล่องหน)
3.ทุ้มที่ดีต้องมีรายละเอียดของหัวโน้ตเสียงต่ำ ไม่มัวหรือคลุมเครือ หางเสียงต้องค่อยลงแล้วหยุดทันที ไม่กระเพื่อม ค้าง จนไปตีกับหัวโน้ตตัวต่อไปต้องมีเสียงตี,กระทบ รู้ว่าอะไรกระทบกับอะไร ไม่ใช่เหมือนหุ้มผ้า
4.ทุ้มที่ดีต้องฉับไว ไม่เอื่อยเฉื่อย ขยับเร็ว,หยุดเร็วเด็ดขาด มีช่องไฟระหว่างโน้ต มีความสงัด
5.ทุ้มที่ดีต้องมีทรวดทรง (3D) ไม่ใช่เป็นก้อนสี่เหลี่ยมหรือแบนเป็นไม้หน้าสาม ต้องนิ่งไม่วอกแวกมีทรวดทรงที่ ชัดเจน ตั้งแต่คีย์ต่ำถึงคีย์สูง
6.ทุ้มต้องกระชับ หยุดได้ทันที ไม่มีการสั่นค้างหยอดท้ายแต่ต้องไม่ห้วน ต้องมีความกังวาน ไม่แห้ง (ความกังวานต่างจากการสั่นค้าง)
7.ทุ้มที่ดีต้องเกลี้ยงสะอาด ปลอดจากการสั่นกระพือใดๆไม่ว่าจากโครงสร้างของตัวดอกเอง หรือจากตัวตู้หรือจากความผิดเพี้ยน (DISTORTION) จากดอก,จากตัวตู้,จากภาคขยายเสียง

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ




การปรับปรุงชุดเครื่องเสียงรถยนต์


เรามาดูว่ากรณีที่ซื้อรถใหม่มา

1.อย่าเอะอะก็จะยกชุดเดิมถอดทิ้ง ปัจจุบันชุดที่ติดมาจากโรงงานถือว่าค่อนข้างโอเคเลยคือ ทุ้ม,กลาง,แหลม ออกกันครบ แทบทั้งหมดจะให้เป็นวิทยุ-CD มา หรือ วิทยุ-CD-เทปมา ลำโพงก็มีตั้งแต่ 1 คู่ถึง 2 คู่
ที่ถูกต้องคือ รื้อออกมาหมดแล้วติดตั้งใหม่ ใช้สายดีๆทั้งสายไฟ,สายลบจากหม้อแบตลงดิน,สายลำโพง,ฟิวส์ โดยฟังทดสอบทิศทางสายว่าต้องหัวหางอย่างไร กรณีติดลำโพงแผงหลัง ทำแผงใหม่ให้หนาแน่นมั่นคง กรณีดอกลำโพง เสียงแหลมถูกแยกห่างจากดอกเสียงกลางทุ้มเกินครึ่งคืบก็ย้ายมาวางชิดติดกัน (ส่วนมากเป็นคู่หน้า) เวลาฟังพยายามโยกฟังลำโพงคู่เดียว หน้าหรือหลัง เพิ่มตัวเก็บประจุ 250,000 ไมโครฟารัดให้วิทยุ กรณีตืดลำโพงที่ประตูหน้าก็เพิ่มแผ่นปะกันสะเทือนที่ภายในตู้หน้า

ถ้าตัววิทยุปรับการติดตั้งให้อยู่ในแนวนอนราบที่สุดได้ (ไม่เชิดหน้า) ก็ควรทำอย่างยิ่ง หาของมาใส่อุดช่องใส่ของรอบๆตัววิทยุ หรือช่องใส่ของที่ประตู ป้องกันเสียงก้อง ปะแผ่นยางกันสะเทือนที่หลังกระจกมองหลังกันสั่น

ถ้าทำได้เนี้ยบทั้งหมด รับรองว่าทั้งสุ้มเสียงและมิติเสียงจะดีขึ้นได้เป็น 100 % ทีเดียว ยิ่งถ้าขยันถอดอุปกรณ์บนแผงวงจรแบ่งความถี่เสียงของลำโพง มานั่งไล่ฟังทิศทางขาอุปกรณ์ (เฉพาะที่ไม่มีขั้วหรือ NON POLAR เท่านั้น) ถ้าย้ายขดลวดบนแผงไปไว้ใต้แผงได้ (หนีการไปรบกวนอุปกรณ์ชิ้นอื่น)ยิ่งดีใหญ่

(แผงหลังที่ติดลำโพง กรณีรถเก๋ง อย่าลืมยกแผงเอียงเพื่อให้ลำโพงยิงเสียงมาหน้ารถ ลดการสะท้อนกลับกระจกหลัง)

ไม่ใช่ว่าโรงงานรถยนต์เขาละเลย หากแต่บางครั้งในระบบการผลิตเยอะๆแบบอุตสาหกรรมมันทำอย่างที่เราพิถีพิถันสุดๆแบบนี้ไม่ได้

บางทีก็แปลกใจเหมือนกันว่า ก็ในเมื่อร้านติดตั้งเองก็บ่นว่า ร้านอื่นๆชอบขายของตัดราคาจนแทบไม่เหลือกำไร จึงน่าจะดีกว่าไหมถ้าบางร้านหันมารับปรับปรุงชุดที่มากับรถดังกล่าว อาจเสียเวลามากหน่อย (เรื่องฟังทิศทางอุปกรณ์บนแผงวงจร) ในคันแรก แต่คันต่อๆไปรุ่นเดียวกันก็ทำได้ง่ายและเร็ว

เมื่อเราเช็คทิศทางสายต่างๆ,ฟิวส์,แผงดีไว้หมดแล้ว ต่อไปจะเปลี่ยนวิทยุใหม่หรือลำโพงใหม่ ก็ง่ายและฟังออกได้ชัดว่าดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าของเดิม

การดัดแปลงเพิ่มเติม

-เปลี่ยนใช้แบตที่ดีขึ้น ถ้ามีทุนก็เอาแบตไฮเอนด์ลูกละหมื่นกว่าบาทไปเลย ถ้างบจำกัดก็เอาแบตแห้งลูกละ 2 พันกว่าบาท
-ทำสวิทซ์ตัดสายอากาศ เวลาฟัง CD มิติ,น้ำเสียงจะดีขึ้น
-เพิ่มตัวกรองไฟให้วิทยุ
-ต้องการรับวิทยุดีขึ้น ก็ทำระบบเสาอากาศ 2 เสามีสวิทซ์เลือก เสาหนึ่งหน้ารถ,อีกเสาหลังรถ (เสาแบบฝังในกระจก)
-ถ้ากะฟังลำโพงแค่คู่เดียวให้ตัดอีกคู่ออกไปเลย เอาสายออก อย่าต่อไว้ หลีกเลี่ยงปัญหาลำโพงที่ไม่ใช้ทำตัวเป็นไมโครโฟนรับคลื่นเสียงภายนอกไปป่วนเครื่อง (ลดความคมชัดลง) แม้โยก FADER หนีแล้ว
-ทำแผงไม้หนาปิดช่องใส่ยางอะไหล่ในกระโปรงหลังรถเก๋งแทนแผงบางที่สั่นเพยิบพยายเวลารถวิ่งหรือเปิดเพลง
-ถ้าตูดแม่เหล็กลำโพงติดสติ๊กเกอร์หรือลูกยางครอบ ให้ลอกหรือถอดออกให้หมด
-ถ้าทำได้ห้อยแผงวงจรลำโพง หนีการสั่นกวนจากลำโพง เสียงจะหลุดลอยออกมาอีกมากพอควร (มันแกว่งสั่นตามรถวิ่งไม่เป็นไรเพราะคนละจังหวะกับเสียงเพลงแต่อย่าให้ช๊อตก็แล้วกัน
-บางครั้งตัววิทยุเอง ภาคขยาย 4CH ในเครื่อง เป็นไปได้ที่จะพบว่า CH หน้าซ้ายเสียงหลุดลอยเป็นตัวๆดี แต่หน้าขวาเสียงแบนจม  CH หลังซ้ายเสียงแบนจม แต่ขวาหลังเสียงหลุดลอยเป็นตัวดี กรณีเช่นนี้ต้องต่อลำโพงซ้ายเข้าหน้าซ้าย,ลำโพงขวาเข้าหลังขวา และปรับโยกเสียงหน้า-หลัง (FADER) มาที่ตรงกลาง FADER จะกลายเป็นปรับซ้าย-ขวาแทนบาลานท์ กรณีนี้จะเล่นลำโพงได้แค่คู่เดียว แม้แต่วิทยุ-CD ซื้อเพิ่มทั่วไปก็เคยพบว่ามีปัญหานี้เหมือนกันแต่ยังน้อย
-พยายามอย่าใช้รีโมทไร้สาย พวกนี้ป่วนคุณภาพเสียง
-กรณีวิทยุ-CD/DVD เป็น 2 DIN มีจอ LCD ด้วย ถ้าเน้นคุณภาพเสียงสุดๆไม่เน้นดูหนัง สิ่งแรกที่ควรยกเปลี่ยน คือตัววิทยุ เปลี่ยนเป็นวิทยุ-CD ปกติ (ขอแนะนำให้หารุ่นที่มีช่องรับ USB ด้วย เพื่อบันทึกลง USB นำมาเปิดในรถ ถ้าบันทึกเนี้ยบสุด มีสิทธ์เสียง,มิติดีกว่าฟังจาก CD ในรถ) จอ LCD เป็นตัวป่วน บั่นทอนคุณภาพเสียงได้ถึง 25 %
-ปะยางกันสะเทือนที่โครงดอกลำโพง แต่อย่าปะที่ตูดแม่เหล็ก เพื่อลดการสั่นกวน เพิ่มการสวิงดัง-ค่อย ความชัดกระจ่าง การหลุดลอยออกมาของมิติ
-ให้เปลี่ยนตัววิทยุก่อนเปลี่ยนลำโพง
-ถ้าชอบฟังดังมากจึงค่อยเพิ่มเพาเวอร์แอมป์หลังจากเปลี่ยนลำโพงแล้วและไหนๆจะเพิ่มแล้วให้หนีไปที่กำลังขับมากที่สุดเท่าที่งบสู้ไหว (ควรมากกว่า 120W.RMS/ข้าง ที่ 4 โอห์ม) กำลังขับยิ่งเยอะ แม้เราไม่เร่งจนแสบหู แต่จะให้เสียงมีแรงอัดฉีด (IMPACT) หรือแรงปะทะดีกว่าแอมป์วัตต์ต่ำ
สายสัญญาณเสียงไปแอมป์ต้องฟังทดสอบหัวท้าย อย่าเชื่อลูกศรที่สกรีนมาที่สาย แล้วแยกสายซ้ายหนีจากสายขวา อย่าให้แตะต้องกัน เวทีเสียงจะหุบ เสียงจะมั่วเวลาดนตรีหลายชิ้น

ถ้าสายลำโพงเดิมใช้หัวเสียบกับดอกลำโพง ให้เปลี่ยนใช้บัดกรีแทนเสียงจะสวิงดีขึ้น,สงัดขึ้น

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กล้องติดรถยนต์

กล้องติดรถยนต์ ว่าด้วยเรื่องของกล้องติดรถยนต์ หลายๆท่านอาจจะเคยดูคลิปบนท้องถนนในต่างประเทศ หรือแม้แต่ในประเทศไทยของเรา มีทั้ง คลิปที่เกิด...